วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

ปรากฎการณ์บนท้องฟ้า

         เรื่องนี้เป็นสารคดีเรื่อง "ปรากฎการณ์บนท้องฟ้า" ที่เกี่ยวกับแสง ซึ่งออกอากาศผ่าน TPBS ไปนานแล้วคุณ ladyEdnaMode นำมาอัพเป็นคลิปลงใน youtube นะครับ ถ้าตั้งใจฟังดีๆจะมีอะไรที่น่าสนใจมากมายเลยครับ




มหัศจรรย์การมองเห็น

         ผมได้นำคลิปที่คุณ ladyEdnaMode ได้นำมาลงไว้ ซึ่งเป็นรายการที่ TPBS นำมาออกอากาศไว้นานแล้วพอสมควรน่ะครับ อาจจะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ก็อยากให้ได้ดูทุกตอนนะครับ ผมว่ามันเป็นอะไรที่ดูแล้วมัน Wonderful มากๆเลย ^_^









ภาพขอบม่วง กับ Chromatic aberration

        ต้องขออภัยด้วยนะครับที่ผมห่างหายจาก blog ไปนาน ก็ด้วยเหตุสุดวิสัยจากการติดสอบปลายภาคน่ะครับวันนี้จะมาต่อจากตอนที่แล้วที่ผมถามไปว่า 
" ถ้าแสงขาวนี้ผ่านเลนส์เดี่ยวในกล้องถ่ายรูป  
ภาพที่ถ่ายออกมาจะมีลักษณะอย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น"
คำตอบก็คือภาพที่ออกมาจะมีลักษณะที่มีความเพี้ยนของสีตามขอบของภาพ ดังรูป

ที่มา : http://www.tlc-systems.com/pp011185crp.jpg

         ภาพที่เกิดขึ้นแบบนี้บางครั้งช่างภาพจะเรียกว่า "ภาพขอบม่วง" ซึ่งศัพท์ทางวิชาการจะเรียกว่า "Chromatic Aberration" ครับ เนื่องจากคำว่า Aberration คือความคลาดเคลื่อนของภาพจากที่ควรจะเป็นซึ่งมีสาเหตุมาจากเลนส์เป็นต้นเหตุ และคำว่า Chromatic จะหมายถึงสี ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับค่าความยาวคลื่นของแสงโดยตรง

        ค่าของความยาวคลื่นแสงนั้นมีความสัมพันธ์กับค่าดัชนีหักเหของแสงในตัวกลางหนึ่งๆ เพราะค่าดัชนีเห คือ

n = c / v 
n = c / (ความยาวคลื่น x ความถี่)

        เนื่องจากความถี่ของแสงในตัวกลางใดๆจะคงที่เสมอ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปแล้วส่งผลให้ความเร็วของแสงในตัวกลางใดๆเปลี่ยนไปคือการเปลี่ยนแปลงความยาวคลื่น ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า "ค่าดัชนีหักเหของแสงจะแปรผกผันกับความยาวคลื่นของแสง" หรือพูดเป็นภาษาพูดได้ว่า "ความยาวคลื่นน้อยๆ(เช่นสีม่วง ประมาณ 400 nm)จะหักเหมาก แต่ถ้าความยาวคลื่นมากๆ(เช่นสีแดง ประมาณ 700 nm)จะหักเหน้อย"

        ดังนั้น เมื่อแสงขาวที่ประกอบด้วยหลายความยาวคลื่นของแสงเดินทางจากอากาศเข้าสู่เลนส์เดี่ยว (ในที่นี้จะกล่าวถึงเลนส์นูนในกล้องถ่ายรูป) จะทำให้เกิดการตกของภาพในแต่ละสีไม่ตรงกัน อันเนื่องมาจากมีดัชนีหักเหของแต่ละสีแตกต่างกัน ดังรูป

ที่มา : http://www.lenklong.com/forums/attachment.php?attachmentid=49&d=1243581035

        ผมได้จำลองการเกิด Chromatic Aberration โดยใช้ต้นกำเนิดแสงสองสีคือ เลเซอร์สีแดง และเลเซอร์สีเขียว ซึ่งวางตั้งฉากกันแล้วยิงเข้าไปที่ Beam slitter ทำให้แสงเลเซอร์ทั้งสองสีนั้นรวมกันเป็นลำเดียวกัน จากนั้นจะส่งผ่านเข้าไปที่เลนส์นูนที่เป็นเลนส์เดี่ยวและวางเลนส์เอียง เพื่อให้สังเกตเห็นการเกิด Chromatic Aberration แบบ Lateral ซึ่งสังเกตได้ง่ายที่สุด โดยผมได้จัดอุปกรณ์ ดังรูป


        หลังจากที่ทำการทดลองแล้ว ได้ผลดังนี้




        การแก้ไขการเกิด Chromatic Aberration ได้สามารถทำได้หลักๆสองวิธีคือ การใช้โปรแกรมตกแต่งรูปหลังจากถ่ายเสร็จแล้ว หรือใช้เลนส์ประกบที่เรียกว่า  Achromatic lens ซึ่งจะทำให้สีทุกสีมีระยะภาพที่ตำแหน่งใกล้เคียงกัน หรือตรงกันมากขึ้น ดังรูป

ที่มา : http://d3sd55e8xn3mwv.cloudfront.net/wp-content/uploads/2007/12/achromat-raysthick-50.gif


วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

ทำไมผ้าเปียกจึงมีสีเข้มกว่าผ้าแห้ง ?

ที่มา : http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/239/239/images/rain.jpg
          เหตุผลที่ทำให้ผ้าเปียกมีสีเข้มกว่าผ้าแห้งเพราะผ้าเปียกนั้นมีการสะท้อนของสีที่น้อยกว่าผ้าแห้ง จึงเห็นว่าผ้าเปียกมีสีเข้มกว่าผ้าแห้ง เรามาซูมภาพผ้าเข้าไปดูใกล้ๆกันดีกว่า จะได้เห็นชัดๆว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ที่มา : http://www.polo-otop.com/images/column_1290582409/DSC00127.JPG
          จากรูปจะเห็นได้ว่าที่เนื้อผ้านั้นมีรูพรุนอยู่มากมาย เพราะผ้าก็คือเส้นด้ายที่ถักทอกันอย่างเป็นระเบียบจนเป็นเนื้อผ้าอย่างที่เห็น
          ในกรณีผ้าแห้ง เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์หรือหลอดไฟส่องมากระทบผ้า จะมีแสงส่วนหนึ่งถูกเนื้อผ้าดูดกลืนไว้และสะท้อนแสงออกมาสู่เรตินาในดวงตาของเรา แต่ในผ้าเปียก น้ำจะไปแทรกตัวอยู่ระหว่างรูพรุนในเนื้อผ้า เมื่อแสงตกกระทบมาที่เนื้อผ้าที่เปียก แสงจะเกิดการหักเหระหว่างตัวกลางคือจากน้ำไปอากาศ ทำให้ทิศทางการเดินทางแสงเบนออกไป ซึ่งเป็นไปตามกฎของสเนล (Snell's law) อีกทั้งแสงยังเกิดการสะท้อนระหว่างรอยต่อของผิวน้ำและอากาศอีกด้วย ดังรูป

ที่มา : http://media-1.web.britannica.com/eb-media/91/96591-004-959BC455.gif
          ดังนั้น เมื่อแสงตกกระทบที่ผ้าเปียก จะมีขั้นตอนดังนี้
  1. แสงเริ่มต้นวิ่งที่ไปกระทบน้ำ ที่รอยต่อระหว่างอากาศ-น้ำมีส่วนหนึ่งหักเหลงไป และมีบางส่วนสะท้อนขึ้นมาโดยแสงนี้ยังไม่ถึงเนื้อผ้า
  2. แสงที่หักเหลงไปจะวิ่งเข้าไปถึงเนื้อผ้าแล้วสะท้อนขึ้นมา
  3. ณ รอยต่อหว่างน้ำ-อากาศ จะเกิดการหักเหอีกครั้งเป็นไปตามกฎของสเนล และมีแสงบางส่วนสะท้อนกลับไปในผิวน้ำอีกครั้งโดยไม่ส่งผ่านขึ้นมาที่อากาศ
          จึงสรุปได้ว่า สาเหตุที่ผ้าเปียกมีการสะท้อนของสีผ้าที่น้อยกว่าผ้าแห้งเพราะ ก่อนแสงที่สะท้อนออกมาจากเนื้อผ้าจะมาเข้าตาเรา จะต้องสูญเสียความสว่างของแสงใน 2 ขั้นตอนขั้นต้นคือ 1. มีการสะท้อนระหว่างรอยต่อของอากาศ-น้ำ 2. มีการสะท้อนระหว่างรอยต่อของน้ำ-อากาศ จึงส่งผลให้ผ้าเปียกมีสีเข้มกว่าผ้าแห้งนั่นเอง

คิดสักนิด ?
          จากภาพข้างบนที่มีเด็กๆกลางสายฝนสองคน จะเห็นว่าเม็ดฝนในภาพนั้นเห็นเป็นหยดน้ำชัดเจนอยู่กลางอากาศ คำถามคือ "กล้องหยุดภาพหยดน้ำฝนกลางอากาศนี้ได้อย่างไร ทั้งๆที่น้ำฝนก็เคลื่อนที่ตลอดเวลา"
         >>> เดี๋ยวผมจะมาเฉลยในฉบับหน้านะครับ ^_^

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

รู้หรือไม่ ? ทำไมรุ้งกินน้ำจึงมีสีแดงอยู่ข้างบนและมีสีม่วงอยู่ด้านล่าง

ที่มา : http://i.kapook.com/tripplep/1-9-53/rainbow5.jpg
          เพราะรุ้งกินน้ำเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังจากฝนตก โดยเกิดขึ้นจากแสงแดดส่องผ่านละอองน้ำในอากาศ ทำให้แสงสีต่าง ๆ เกิดการหักเหขึ้น จึงเห็นเป็นแถบสีต่าง ๆ ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า

         เราทราบว่าแสงขาวที่ออกมาจากดวงอาทิตย์นั้นประกอบด้วยสีหลายสี ดังรูป

 



ที่มา : http://www.promolux.com/thai/images/spectrum.jpg

         แสงแต่ละสีจะมีความยาวคลื่นไม่เท่ากัน ซึ่งในวัสดุหนึ่งๆ ค่าดัชนีหักเหจะมีค่าแปรผกผันกับความยาวคลื่น หากความยาวคลื่นน้อยดัชนีหักเหจะมาก และหากความยาวคลื่นมากดัชนีหักเหจะน้อย เป็นไปตาม Sellmeier equation ตัวอย่างดังรูป
ที่มา : http://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/4/4f/Sellmeier-equation.svg
          เมื่อแสงเดินทางผ่านตัวกลางต่างชนิดกัน ซึ่งมีดัชนีหักเหต่างกัน จะเกิดการหักเหขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกฎของสเนล Snell's law

ที่มา : http://static.ddmcdn.com/gif/rainbow-raindrop.jpg

          ดังนั้นเมื่อแสงขาวซึ่งประกอบด้วยแสงหลายสี (หลายความยาวคลื่น) เดินทางผ่านเข้าไปในละอองหยดน้ำ แสงขาวจะเกิดการหักเห แต่แสงแต่ละสีจะมีค่าดัชนีหักเหไม่เท่ากันจึงเกิดปรากฎการณ์การกระจายของแสง (Dispersion) ก่อให้เกิดเป็นรุ้งกินน้ำ
          จากความสัมพันธ์ระหว่างความยาวคลื่นกับดัชนี้หักเห ส่งผลให้ดัชนีหักเหของแสงสีม่วงมีค่ามากกว่าสีแดง (ในหยดน้ำนี้แสงสีม่วง n=1.343, แสงสีแดง n=1.331) ทำให้สีม่วงมีมุมหักเหที่มากกว่าสีแดง ส่งผลให้มองเห็นสีแดงอยู่ด้านบนและเห็นสีม่วงอยู่ด้านล่างของรุ้งกินน้ำนั่นเอง

ที่มา : http://patarnott.com/atms749/pdf/MultipleRainbowsSingleDrops.pdf

ลองคิดสักนิด ?
         ในเมื่อทราบกันแล้วนะครับว่าแสงแต่ละสี (แต่ละความยาวคลื่น) จะมีค่าดัชนีหักเหที่แตกต่างกันในตัวกลางเดียวกัน คำถามคือ
         ถ้าแสงขาวนี้ผ่านเลนส์เดี่ยวในกล้องถ่ายรูป ภาพที่ถ่ายออกมาจะมีลักษณะอย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
>>> ติดตามผลเฉลยตอนต่อไปนะครับ